สุนทรียสนทนา
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.
Latest topics
» youtube classical ที่เสียงดีๆ
by pee Thu Jul 27, 2017 10:51 pm

» "บันเลง" หรือ "บรรเลง"
by dht_tubes Wed Jul 26, 2017 3:39 pm

» ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship
by dht_tubes Wed Jul 26, 2017 2:11 pm

» BBC ก็มั่วเหมือนกัน
by pee Tue Jul 25, 2017 1:51 pm

» ทำนองเพลงชาติอเมริกา
by prisna Tue Jul 25, 2017 12:52 pm

» 1954 ปีที่ดนตรีหยุดบันเลง
by pee Sun Jul 23, 2017 10:04 pm

» Victor de Sabata 1892-1967 อัจฉริยะขี้โรคจาก Trieste
by K. PJ Sun Jul 23, 2017 1:25 pm

» Your first subject
by wang Sat Jul 15, 2017 10:17 pm


ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship

3 posters

Go down

ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship Empty ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship

ตั้งหัวข้อ by pee Tue Jul 18, 2017 6:49 pm

connoisseur มาจากภาษาฝรั่งเศส connaître
แปลว่า รู้ หรือผู้รู้

ในวิชาศิลปะและสุนทรีย์ศาสตร์
หมายถึงผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงภูมิความรู้ในระดับที่วินิจฉัยทางรสนิยมได้อย่างปราศจากข้อโต้แย้ง

ปัจจุบันศัพท์นี้ ค่อยๆ เลือนความหมายไปจนบางครั้งกลายเป็นคำกระทบกระแทกแดกดัน
ยิ่งกว่านั้น ยังถูกสาขาวิชาชีพอื่นนำไปใช้ โดยเฉพาะในเรื่องของอาหาร ไวน์ หรือชา
อย่างไรก็ดี ความหมายดั้งเดิมของมันก็ยังดำรงอยู่ และเป็นสิ่งที่สังคมไทยขาดแคลนอย่างที่สุด

-------

คอนนอยเซอร์ไทยท่านแรกที่ผมรู้จัก คืออาจารย์เสนอ นิลเดช (2477- ) ศิลปินแห่งชาติ

อาจารย์เสนอเป็นที่รู้จักในแวดวงนักสะสมของเก่ามาตั้งแตยังเป็นหนุ่ม
เป็นผู้เชี่ยวชาญศิลปะไทยในทุกแขนงรวมถึงพระเครื่อง
เป็นที่ยอมรับในรสนิยมส่วนตัวอย่างไม่มีใครกล้าโต้แย้ง

เมื่อผมเรียนถามท่านว่า ศิลปกรรมชิ้นเอกของไทยมีอยู่ที่ใดบ้าง
คำตอบหลั่งไหลมา โดยมิพักต้องตรึกตรอง

พระที่นั่งสรรเพชปราสาท เมืองโบราณ
พระแข้งคมเมืองสรรค์
จานรูปปลา เชลียง
บุษบกเกริน วัดราชนัดดาราม
ตู้พระธรรมวัดเชิงหวาย
ลายรดน้ำวัดนางนอง
จิตรกรรมจีน วัดราชโอรส
ช่อฟ้า พระอุโบสถวัดพระเชตุพน

ฯลฯ

นี่คือวินิจฉัยที่ท่านบอกแกผมเมื่อปี 2519-20
เพื่อถ่ายรูปมาให้ท่านใช้สอนในคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

pee
Admin
Admin

จำนวนข้อความ : 28
Join date : 18/07/2017

ขึ้นไปข้างบน Go down

ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship Empty Re: ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship

ตั้งหัวข้อ by pee Tue Jul 18, 2017 7:50 pm

คอนนอยเซอร์คือใคร

Erwin Panofsky (1892-1968) นักประวัติศาสตร์ศิลป์เลื่องชื่อ สรุปไว้สั้นๆ แต่ได้ใจความว่า
คอนนอยเซอร์ คือนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่พูดน้อย ส่วนนักประวัติศาสตร์ศิลป์ก็คือคอนนอยเซอร์ที่พูดมาก
ที่ว่าพูดน้อย ไม่ได้หมายความตามตัวอักษรว่าสนทนา แต่หมายความว่ามีงานตีพิมพ์น้อย
อาจารย์เสนอก็คือนักประวัติศาสตร์ศิลป์ที่พูดน้อยนั่นเอง

ที่จริงทั้งสองอาชีพมีข้อต่างกันเพียงเล็กน้อย คือต่างก็ต้องใช้ฐานความรู้อย่างกว้างขวางชุดเดียวกัน
นักประวัติศาสตร์ศิลป์ต้องการสร้างความเข้าใจที่ครอบคลุมทุกด้าน
ส่วนคอนนอยเซอร์นั้น ต้องการวินิจฉัยคุณค่าของผลงานเป็นเป้าหมายหลัก

ตอนที่ผมเป็นนักศึกษานอกห้องเรียนของท่านนั้น อาจารย์มีตำแหน่งทางวิชาการที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์
เป็นตำแหน่งที่ได้มาโดยแทบจะเรียกว่าอัตโนมัติ เพราะทบวงมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น
ยังไม่เข้มงวดกับการขอตำแหน่ง ผศ. เท่าใดนัก
มีเพียงเอกสารประกอบการสอน จำนวนปีที่สอน และชั่วโมงสอนตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ได้ตำแหน่งโดยไม่มีอุปสรรค

ในเวลานั้น อาจารย์จำนวนมาก ได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์โดยไม่เคยมีหนังสือเล่มหรือบทความตีพิมพ์เลยสักชิ้น
สำหรับอาจารย์เสนอ ถ้าจำไม่ผิด ดูเหมือนจะมีชื่อเป็นวิทยากรในหนังสือของกรมศิลปากร 2516
"วินิจฉัยปัญหาพระเจดีย์โบราณที่อำเภอพนมทวน กาญจนบุรี" (ชื่อเอกสารอาจจะเพี้ยนไปตามความจำ)
วินิจฉัยในส่วนของท่าน คือเห็นว่าพระเจดีย์พนมทวนนั้น ไม่เก่าถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวร พ.ศ. 2112
เพราะที่ฐาน มีช่องตามประทีปซึ่งเป็นศิลปะแบบสมเด็จพระนารายณ์ ประมาณ พ.ศ. 2200 ลงมา ประดับอยู่

อาจารย์เสนอ มาเริ่มเขียนบทความอย่างจริงจัง เมื่อมีอาจารย์ในคณะท่านหนึ่ง
รับเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารของคณะกรรมการเอกลักษณ์ไทยมาขอให้เขียนเรื่องประจำ
ผมได้มีโอกาสถ่ายรูปประกอบบทความ ปูนปั้นวัดไลย์ อำเภอท่าวุ้ง ลพบุรี ให้ท่าน
ก่อนจะมีโจรชั่ว ต่อยเอาเศียรเทวดาไปขายหลายชิ้น ทางวัดจึงต้องทำตะแกรงเหล็กครอบ
นิตยสารลักษณะไทยนี้เอง จึงมีบทความของท่านตีพิมพ์หลายชิ้น
มากกว่าวารสารเมืองโบราณ ที่ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเมื่อก่อนหน้านี้เสียอีก


แก้ไขล่าสุดโดย pee เมื่อ Wed Jul 19, 2017 11:46 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง

pee
Admin
Admin

จำนวนข้อความ : 28
Join date : 18/07/2017

ขึ้นไปข้างบน Go down

ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship Empty Re: ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship

ตั้งหัวข้อ by pee Tue Jul 18, 2017 10:44 pm

อยู่มาวันหนึ่ง อยากรู้เรื่องแสงสว่างสมัยโบราณ ก็ถามโพล่งขึ้นว่า
อาจารย์ครับ สมัยโบราณก่อนมีไฟฟ้า เราใช้อะไรให้แสงสว่าง
ท่านตอบทันที ไม่ต้องคิดว่า น้ำมันมะพราวไง สมัยรัชกาลที่สี่ ทรงพระราชทานน้ำมันมะพร้าวให้โอรสท่าน
แล้วคนธรรมดาล่ะครับ
ท่านคิดชั่วอึดใจ ตอบว่า ไต้ มีในตำนานวังหน้าว่า คืนหนึ่งพระปิ่นเกล้าทรงม้าออกหน้าพระลาน เจอขุนนางคนหนึ่ง
ทรงนึกอะไรได้ ลงม้าประทับนั่งยองๆ เขี่ยไต้คุยกับผู้นั้นอยู่นาน
ผมได้แต่ตะลึงในใจว่า คนโบราณที่ว่าจำหนังสือเป็นเล่มๆ ก็คงประมาณนี้นี่แหละ

ผมเคยเลียบเคียงถามท่านว่า ทำไมจึงสามารถเข้าถึงความคิดและวิถีชีวิตของคนในยุคก่อนได้ชัดเจนเช่นนี้
ท่านตอบสั้นๆ ว่า "ฉันอ่านพงศาวดารไทย รู้เรื่องเหมือนอ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับวันนี้"
ในห้องทำงานของอาจารย์ กองเต็มห้องมีแต่หนังสือเก่าจำพวกพระราชพงศาวดาร ส่วนมากเป็นหนังสืองานศพ และของกรมศิลป์
ในตู้เหล็กข้างๆ เก็บรูปถ่าย ฟิล์ม และสไลด์ที่ใช้สอน มากมายนับไม่ถ้วน ท่านมีวิธีในการได้รูปพวกนี้อย่างแปลก
ทุกครั้งที่พานักศึกษาออกภาคสนาม ท่านจะเบิกฟิล์มสไลด์มาเต็มตามสิทธิ์ ปกติก็สามถึงสี่ม้วน แจกเด็กนักศึกษาที่มีกล้อง
สั่งว่า เจออะไรน่าสนใจก็ให้ถ่ายไว้ ส่วนมากเด็กก็ถ่ายตามการชี้นิ้วของอาจารย์ ฟิล์มพวกนี้ไม่เคยจัดระเบียบ ใช้ความจำอย่างเดียว
เอกสารราชการพวกหนังสือเชิญหรือคำสั่งทั้งหลาย ท่านไม่เคยเก็บ
ตอนที่รวบรวมผลงานเพื่อขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ราวๆ 2525-6 จึงยุ่งยากมากกว่าจะทำให้สมกับเกณฑ์ความต้องการ

งานอดิเรกที่ท่านรักมาก นอกจากหนังสือแล้วก็คือพระเครื่อง และนาฬิกา

ทุกวันเวลาเที่ยง หลังอาหารกลางวันแถวท่าช้าง อาจารย์จะแวะตลาดพระท่าพระจันทร์ มีแผงพระเจ้าประจำเลือกชมเหรียญพระและพระเครื่องจนหมดเวลาพัก
ตกเย็นหลังเลิกงาน ก็มักจะนั่งเรือด่วนไปที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ ไม่เช่นนั้นก็แวะร้านของเก่าแถวสยามหรือสี่พระยา
ทุกร้านต้อนรับอาจารย์เป็นแขกพิเศษ เพราะความที่ท่านมีสายสัมพันธ์อันดีกับคนมากมายทุกระดับ แม้ตัวท่านจะไม่มีเงินแสนเงินล้านมาซื้อของเก่า
แต่คนที่ท่านสนืทสนมนั้นมี และเชื่อในคำแนะนำอย่างไม่มีเงื่อนไข

คนที่ไม่สนิท มักเข้าใจว่าอาจารย์เสนอมีฐานะดี หามิได้ ท่านเพียงแต่มีกินมีใช้ไม่ขัดสน เงินที่หมดไปกับของเก่าก็ไม่ได้มากมายนัก
ที่น้อยคนจะรู้ก็คือ อาจารย์เป็นคนสมถะอย่างที่สุด เช่าห้องเล็กๆ ที่บ้านหมอเฉก ธนะศิริ อยู่มาตั้งแต่เข้ากรุงเทพ ห้องนั้นเล็กกว่าตู้เสื้อผ้าของเศรษฐี ขนาดราวๆสองเมตรเศษๆ
กางมุ้งกลางห้องก็เต็มพื้นที่แล้ว ใครมาหา ใหญ่โตแค่ใหน ก็นั่งคุยพับเพียบอยู่ตรงนั้น เก้าอี้เล็กๆ สักตัวก็ยังไม่มี

น้อยคนเช่นกัน ที่จะรู้ว่าอาจารย์เสนอรักแม่อย่างที่สุด ดังนั้น ทุกเสาร์อาทิตย์ถ้าไม่ติดกิจธุระ ท่านต้องกลับบ้านที่หนองแซง สระบุรี ไม่เคยขาด
บ้านที่สระบุรี เคยถูกไฟไหม้ จากนั้นท่านก็สร้างใหม่เป็นตึกแถว ได้เพื่อนอาจารย์ คือศิลปินแห่งชาติ วนิดา พึ่งสุนทรออกแบบให้อย่างดี

pee
Admin
Admin

จำนวนข้อความ : 28
Join date : 18/07/2017

ขึ้นไปข้างบน Go down

ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship Empty Re: ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship

ตั้งหัวข้อ by pee Wed Jul 19, 2017 12:06 am

อาจารย์เสนอไม่ใช่คนแข็งแรง อายุไม่ถึงห้าสิบ ก็ต้องถือไม้เท้า ไม่ใช่เพราะความชรา แต่เพราะสายตาไม่ดี
เวลาอักเสบน้ำตาก็ไหลพราก ท่านจึงต้องพบหมอที่คลีนิกรัตนิน ซอยอโศกเป็นประจำ
ต้องพกระเบิดติดตัว คือยาไนโตรกลีเซอรินอมใต้ลิ้น แก้เส้นเลือดตีบ
ต่อมาก็เป็นเบาหวาน
และหนักสุดถึงต้องผ่าตัด คืออัณฑะอักเสบ เป็นโรคเรื้อรังตั้งแต่เด็ก
เพราะถูกเพื่อนแกล้งเตะเอาแรงๆ

นี่คือชีวิตของนักวิชาการที่เป็นเอตะทัคคะทางด้านศิลปะไทย เป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับคอนนอยเซอร์
อาจจะเพียงคนเดียวในปัจจุบัน
เพื่อนคนหนึ่ง เคยคิดว่า อาจารย์คงถนัดแต่สถาปัตยกรรมและเครื่องประกอบที่เกี่ยวข้อง มาเล่าอย่างตื่นเต้นว่า
แม้แต่จิตรกรรมอยุธยา ท่านก็เชี่ยวชาญ สามารถให้รายละเอียดได้ว่า
ในแต่ละสกุลช่าง มีเทคนิคการตัดเส้นแรอย่างไร ใช้สีอะไรประกอบกับสีอะไร

งานประณีตศิลปของไทยนั้น ดูเหมือนท่านจะรู้ลึกไปทุกอย่าง แม้แต่เครื่องสดแทงหยวก
ซึ่งเป็นวิชาที่เกือบจะสาบสูญ ท่านก็ยังเขียนบทความถึง
เครื่องเขินเชียงใหม่นั้น ร้านค้าสองข้างถนนงัวลาย เมืองเชียงใหม่
ล้วนแต่ยินดีต้อนรับ เล่ากันว่าท่านเคยกวาดซื้อชิ้นดีๆ หมดถนนมาแล้ว

นอกจากสะสมของเก่า อาจารย์ยังชอบทำของใหม่ต่ออายุช่างโบราณ
เตียบมุกและมุกแกมเบื้อซึ่งไม่มีใครรู้จัก นอกจากที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์
ท่านก็ทุ่มเงินสร้างใหม่ เพียงเพื่อจะจัดสำรับเต็มยศถวายพระสงฆ์สักครั้ง

ด้วยผลงานเป็นรูปธรรมอย่างที่เล่ามานี้เอง
อาจารย์เสนอ นิลเดชจึงไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ตามระบบที่ถือการสร้างตำราเป็นหน้าที่
แต่เป็นนักสุนทรียศาสตร์ที่สร้างตำราในภาคปฎิบัติ
มีตัวหนังสือน้อย หรือไม่มีเลย

สิ่งที่มีคือการจำลองความงามของอดีต ให้ฟื้นคืนมีชีวิตในปัจจุบัน

pee
Admin
Admin

จำนวนข้อความ : 28
Join date : 18/07/2017

ขึ้นไปข้างบน Go down

ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship Empty Re: ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship

ตั้งหัวข้อ by wang Tue Jul 25, 2017 11:15 am

นับถือมากครับ ผมได้อ่านหนังสือของอาจารย์เสนอเล่มนึง ยืมมาจากห้องสมุด ชื่อหนังสือเรือนเครื่องผูก เป็นหนังสือที่ละเอียดสมบูรณ์แบบจริงๆ ก็เลยแอบสแกนเก็บไว้ครับ

ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship Svjh3qe

wang
Admin
Admin

จำนวนข้อความ : 11
Join date : 15/07/2017

https://aestheticliving.thai-forum.net

ขึ้นไปข้างบน Go down

ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship Empty Re: ประเทศนี้ไม่มี connoisseurship

ตั้งหัวข้อ by dht_tubes Wed Jul 26, 2017 2:11 pm

มาตามอ่านด้วยคนครับพี่พี
dht_tubes
dht_tubes
มือใหม่
มือใหม่

จำนวนข้อความ : 4
Join date : 23/07/2017

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ